ประกาศองค์การสะพานปลา
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ”
*****************************
เพื่อให้การบริหารจัดการตลาดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยสอดคล้องกับนโยบายการประมงแห่งชาติตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 นโยบายการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย องค์การสะพานปลาจึงต้องเร่งพัฒนาสะพานปลากรุงเทพให้เป็น ศูนย์กลางตลาดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงไทยมาตรฐานสากล ทั้งในด้านสุขอนามัย และการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสินค้าสัตว์น้ำจากแหล่งประมงและแหล่งเลี้ยงอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว องค์การสะพานปลาจึงได้ออกแบบก่อสร้างสะพานปลากรุงเทพขึ้นใหม่ทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ประกอบด้วยพื้นที่ธุรกิจและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ตลาดประมูลซื้อขายสัตว์น้ำด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบำบัดน้ำเสีย เทคโนโลยีการกำจัดขยะและกลิ่นเหม็น การจัดการสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อชุมชนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตเจริญกรุงฝั่งใต้ของกรุงเทพมหานครและนโยบายการขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่ยุค 4.0
เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 องค์การสะพานปลา จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่โครงการ โดยมีรายละเอียดขั้นตอน วิธีการและกำหนดการ ดังนี้
- เหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของโครงการ
เหตุผลความจำเป็น
ด้วยสะพานปลากรุงเทพ เป็นสะพานปลาแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นโดยพรบ.จัดระเบียบ กิจการแพปลา พ.ศ. 2496 เพื่อให้เป็นตลาดกลางขายส่งสินค้าสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ซอยเจริญกรุง 58 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดบริการมากว่า 64 ปี เป็นศูนย์กลางการรวบรวม ขนส่ง ซื้อขายและกระจายสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงจากจังหวัดชายทะเลในภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงสัตว์น้ำจืดจากแหล่งเลี้ยงในภาคกลาง เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในตลาดสดเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีปริมาณสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายมากกว่าวันละ 60 ตัน
ปัจจุบันสะพานปลากรุงเทพตกอยู่ในสภาพที่ชำรุดและทรุดโทรม ไม่สามารถยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยตามข้อกำหนดของกรมประมง ส่งผลให้สินค้าสัตว์น้ำไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงให้สามารถแข่งขันได้ และช่วยให้คนไทยมีโอกาสได้บริโภคสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพเพื่อการมีสุขภาพอนามัยที่ดี
สะพานปลากรุงเทพจะทำหน้าที่เป็น ศูนย์กลางธุรกิจประมงครบวงจร เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในอาชีพให้แก่ ชาวประมงและผู้ประกอบธุรกิจประมง จำนวนมาก เนื่องจากมีองค์ประกอบที่เป็นตลาดกลางสัตว์น้ำ ตลาดค้าปลีก ศูนย์แสดงสินค้าสัตว์น้ำจากโรงงาน ภัตตาคารอาหารทะเล ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีประมงและการตลาดสัตว์น้ำสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคที่โดดเด่นอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน
วัตถุประสงค์
1.1 พัฒนาสะพานปลากรุงเทพให้เป็นศูนย์กลางตลาดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงไทยมาตรฐานสากล
1.2 เป็นแหล่งอ้างอิงราคากลาง (Reference Prices) สำหรับธุรกิจค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวประมงและผู้ประกอบธุรกิจประมงทั้งในและต่างประเทศ
1.3 เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าสัตว์น้ำคุณภาพ (Value Added) ที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย สร้างการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจค้าสัตว์น้ำ
1.4 กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบและกลไกตลาดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้มาตรฐานสากล โดยเป็นศูนย์รวมของธุรกิจประมงที่มีความหลากหลายเชื่อมโยงและสนับสนุน ซึ่งกันและกัน สามารถดึงดูดผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเข้ามาลงทุนและใช้จ่าย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง
1.5 เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดปัญหาการว่างงานของคนไทย
1.6 เป็นกลไกสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อสุขภาพของประชาชนตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
1.7 ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการปรับปรุงทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความงดงามด้วยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กรุงเทพมหานครและประเทศไทย
2) สาระสำคัญของโครงการ
พัฒนาสะพานปลากรุงเทพใหม่ทั้งหมดด้วยการรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างใหม่ พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย เน้นการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย อาทิ การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดกลิ่นเหม็นและขยะ ด้วยการดำเนินธุรกิจประมงที่หลากหลายของโครงการ อาทิ การประมูลซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำแบบรายวันและแบบล่วงหน้า ธุรกิจภัตตาคารอาหารทะเลสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายสัตว์น้ำแปรรูปและผลิตภัณฑ์ประมง ซุปเปอร์มาร์เก็ตอาหารทะเลคุณภาพสูง ร้านจำหน่ายอาหารทะเลสดและแปรรูป ฯลฯ โดยการออกแบบพื้นที่ธุรกิจให้สอดคล้องสังคมเมืองและการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการตลาดสัตว์น้ำที่ทันสมัย
3) ผู้ดำเนินการ
องค์การสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง
4) สถานที่ที่จะดำเนินการ
บนที่ตั้งสะพานปลากรุงเทพปัจจุบัน ที่ดินราชพัสดุแปลงโฉนดที่ 6239-6240 ที่อยู่ เลขที่ 149 ซอยเจริญกรุง 58 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
5) ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ
5.1 รับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชน
5.2 ประเมินผลและสรุปแนวทางดำเนินการร่วมกับกรมธนารักษ์
5.3 จัดทำรายละเอียดโครงการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
5.4 จัดหาพื้นที่ก่อสร้างสะพานปลากรุงเทพชั่วคราว เพื่อให้บริการระหว่างการก่อสร้างตามโครงการ
5.5 ประกาศหาเอกชนร่วมลงทุน
5.6 จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
5.7 ดำเนินการก่อสร้าง
ระยะเวลาดำเนินการ ประมาณ 3 ปี
6) ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ
กรุงเทพมหานครมีศูนย์กลางตลาดกลางสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงที่ทันสมัย ถูกสุขลักษณะ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นแหล่งรายได้จากธุรกิจประมงครบวงจรและการท่องเที่ยว มูลค่าไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท
7) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ ที่ดำเนินโครงการหรือพื้นที่ใกล้เคียง
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการในช่วงก่อสร้าง ได้แก่ ฝุ่นละออง และเสียงรบกวนระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
มาตรการป้องกันและแก้ไข กำหนดเงื่อนไขในสัญญาจ้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างมีมาตรการดูแลเรื่องฝุ่นละอองจากเศษวัสดุก่อสร้าง เช่น การฉีดน้ำในบริเวณก่อสร้างและกองหิน/ทราย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย การกั้นรั้วรอบบริเวณก่อสร้าง รวมถึงการดูแลรถบรรทุก/เครื่องจักรกลต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพดี เพื่อลดควันหรือเขม่าจากการทำงาน
การดำเนินงานโครงการจะต้องมีการออกแบบก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน มีความมั่นคงและมีความปลอดภัยเป็นพิเศษตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดประเภทและขนาดของโครงการสำหรับกิจการที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
8) ประมาณการค่าใช้จ่าย
ค่าก่อสร้างตามโครงการ ประมาณ 1,000 ล้านบาท
9) ที่มาของเงินที่ใช้ในการดำเนินการ
งบประมาณจากกระทรวงการคลังและเอกชนที่ร่วมลงทุน หรือ งบประมาณจากภาครัฐ
10) ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
10.1 ผู้อาศัยอยู่พื้นที่ใกล้เคียงสะพานปลากรุงเทพ
10.2 ผู้ประกอบการค้าในบริเวณสะพานปลากรุงเทพ
10.3 ผู้ใช้บริการทั่วไปในบริเวณสะพานปลากรุงเทพ
10.4 สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนาและหน่วยงานราชการซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสะพานปลากรุงเทพ
10.5 ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสะพานปลากรุงเทพ
ในวันที่เข้าร่วมสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์และแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ และต้องอาศัยหรือประกอบกิจการและอาชีพอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสะพานปลากรุงเทพในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร
11) กำหนดการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
วิธีที่ 1 การสนทนากลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มที่ 1 ประชาชนทั่วไป ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงสะพานปลากรุงเทพ สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน
วันพุธที่ 27 กันยายน 2560 เวลา 10.00-12.00 น.
สถานที่ อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ ชั้น 3 วัดยานนาวา
กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบกิจการแพปลา ผู้ซื้อ คนงาน ร้านค้า
วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560 เวลา 10.00–12.00 น.
สถานที่ ห้องประชุมสหภาพแรงงาน สะพานปลากรุงเทพ
กำหนดการ
09.30–10.00 ลงทะเบียน พร้อมรับแบบสอบถาม
10.00-10.30 ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา กล่าวถึงรายละเอียดโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ
10.30-11.30 นำเสนอวีดิทัศน์ โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ (VTR Presentation) /ตอบข้อซักถาม
11.30-12.00 ตอบแบบสอบถาม
สรุปผลแบบสอบถามการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยประกาศให้ประชาชนทราบ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
วิธีที่ 2 การนำแบบสอบถามไปให้กลุ่มเป้าหมายโดยตรง
1.กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียน สถานที่ราชการ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสะพานปลากรุงเทพ โดยทำการนัดวัน เวลา สถานที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม
2.นำเสนอ VTR Presentation ตัวอย่างแบบรูปโครงการโครงการพัฒนา สะพานปลากรุงเทพ พร้อมแจกเอกสารแผ่นพับ ก่อนแจกแบบสอบถาม ขอความร่วมมือกับกลุ่มเป้าหมาย ชี้แจงให้เห็นความสำคัญและตอบแบบสอบถามที่ตรงตามความเป็นจริงที่สุด
3.แจกแบบสอบถามพร้อมคอยตอบข้อซักถาม จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยใช้แบบสอบถามและรอรับแบบสอบถาม
4.รวบรวมแบบสอบถามและสรุปผลแบบสอบถามการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยประกาศให้ประชาชนทราบ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
วิธีที่ 3 เผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
องค์การสะพานปลาจะทำการเผยแพร่ประกาศเรื่อง การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับ “โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ” ในเว็บไซต์ขององค์การสะพานปลา www.fishmarket.co.th ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2560 และโดยประชาชนทั่วไปสามารถตอบแบบสอบถาม on line ได้ใน เว็บไซต์ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน - 9 ตุลาคม 2560
องค์การสะพานปลา จึงขอเชิญชวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมให้ความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ ดังกล่าว ตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน
ประกาศ ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560
สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
เรื่อง “โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพ”
*---------------------------------------------------------------------*
คลิ๊กเพื่อไปเวปรับฟังความคิดเห็นประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี
*---------------------------------------------------------------------*